 |
ออกไปหน้าข่าวหลัก
6 ชุมชนริมคลองลาดพร้าวต้องย้ายออกที่ดินเหลือไม่พอทำบ้าน

6 ชุมชนริมคลองลาดพร้าวต้องย้ายออกที่ดินเหลือไม่พอทำบ้าน เร่งทำความเข้าใจ6ชุมชนริมคลองลาดพร้าว
ต้องย้ายชาวบ้าน กว่า1,200คนออกจากพื้นที่เดิมทั้งหมด เหตุไม่มีที่ดินเหลือพอสร้างบ้านมั่นคง
ด้านพอช.ยันดูแลชาวบ้านได้รับสิทธิตามโครงการของรัฐบาลทุกประการ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการรื้อย้ายบ้านเรือนประชาชนออกจากแนวพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนริมคลองลาดพร้าวทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งเป็นคลองแรกนำร่องในโครงการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะและการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหลายฝ่ายได้ร่วมกันเดินหน้าแก้ปัญหาชุมชนที่บุกรุกริมตลอดแนวคลองทั้งหมด
โดยใช้โครงการบ้านมั่นคง ในการแก้ปัญหาให้ชุมชนเช่าพื้นที่ราชพัสดุสร้างบ้านอยู่ในจุดเดิมได้ ในกรณีที่มีพื้นที่ดินเหลือหลักจากกันแนวเพื่อก่อสร้างเขื่อน โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 59 ได้มีการลงนามสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว 4 ชุมชน ในเขตสายไหม 2 ชุมชนและเขตจตุจักร 2 ชุมชนแล้วนั้น นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. กล่าวว่า
พอช.ได้ร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่ตลอดแนวคลองลาดพร้าวที่เตรียมดำเนินการสร้างเขื่อน ได้เข้าไปทำความเข้าใจ และประชุมร่วมกับประชาชนในชุมชนตลอดแนวคลอง ซึ่งมีทั้งหมด 43 ชุมชน และตามเป้าหมายจะเข้าไปดำเนินการบ้านมั่นคงให้ได้ 17 ชุมชนภายในปี 59 นี้
โดยจากการตรวจสอบแนวเขตที่ดินตลอดแนวคลองลาดพร้าวพบว่า จะมี 6 ชุมชน ที่ชาวบ้านทั้งหมดจะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากไม่มีที่ดินเหลือพอ โดยชาวบ้านจะต้องไปหาพื้นที่แห่งใหม่เพื่อก่อสร้างบ้านนอกพื้นที่ชุมชนเดิม
ซึ่งประกอบด้วย 6 ชุมชน คือ
1.ชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา เขตห้วยขวาง จำนวน 150 ครัวเรือน
2.ชุมชนบึงพระราม 9 (ปากคลองลาดพร้าว) เขตห้วยขวาง จำนวน 86 ครัวเรือน
3.ชุมชนคลองบางเขน เขตหลักสี่ จำนวน 50 ครัวเรือน 4.ชุมชนสายไหมพัฒนา เขตสายไหม จำนวน 94 ครัวเรือน
5.ชุมชนหลังซอยแอนแน๊กซ์ เขตสายไหม จำนวน 203 ครัวเรือน
6.ชุมชนเลียบคลองสอง เขตสายไหม จำนวน 673 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 1,256 ครั้วเรือน
ทั้งนี้ทางพอช.ได้เข้าไปสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องกระบวนการรวมกลุ่ม เพื่อให้ชาวบ้านรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และไปหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งขณะนี้ทั้ง 6 ชุมชนได้รับทราบโครงการแล้วว่าจะมีการสร้างเขื่อน โดยบางชุมชนเริ่มมีการออมเงินและไปหาพื้นที่ใหม่ ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้จะไม่ได้เป็นการเช่าที่กับทางกรมธนารักษ์ ประชาชนก็ได้รับสิทธิในโครงการบ้านมั่นคงเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ที่ได้เช่าที่ธนารักษ์ในจุดเดิม
อย่างไรก็ตามขณะนี้จากการประสานข้อมูลกับทางกทม. จะต้องกันแนวคลองในช่วงปลายคลองให้ได้ความกว้าง 35 เมตร เพื่อประสิทธิภาพของการระบายน้ำ ในขณะนี้ปลายคลองลาดพร้าวนั้นจะอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงผ่านพื้นที่เขตห้วยขวาง
ซึ่งในนโยบายของการสร้างบ้านมั่นคงในจุดที่ประชาชนได้อยู่ในพื้นที่เดิมนั้นในส่วนที่ดำเนินการมาแล้ว 4 ชุมชนซึ่งเป็นช่วงบนของคลองที่เป็นชานเมืองนั้นมีที่ดินเหลือพอจะจัดสรรสร้างบ้านให้ประชาชนในแนวราบได้ แต่ช่วงปลายคลองซึ่งมีคนอยู่มากและพื้นที่มีน้อย ก็จะให้ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกแบบให้เป็นบ้านในแนวดิ่งหรือในลักษณะแฟลต แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาพูดคุยตกลงกันของทางชุมชนที่จะกำหนดรูปแบบที่อยู่อาศัย และการตรวจสอบกันเองในการคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิที่จะได้อยู่ในชุมชน รายงานข่าวแจ้งว่า
สำหรับแบบบ้านที่ได้มีการดำเนินการจัดผังชุมชนใหม่ที่จะก่อสร้างขึ้นในจุดเดิมเพื่อรองรับการก่อสร้างเขื่อนใน 4 ชุมชนนำร่องนั้น เป็นบ้านแนวราบทั้งหมดโดยขนาดบ้านมาตรฐานที่เล็กที่สุดคือ บ้านชั้นเดียวขนาด 4x7 ตร.ม. โดยขึ้นอยู่กับแปลงที่ดินของแต่ละชุมชน ซึ่งที่ได้ดำเนินการขณะนี้มีบ้าน 3 แบบคือ บ้านชั้นเดียวขาด 4x7 ตร.ม. บ้าน 2 ชัน้ ขนาด 4x7 ตร.ม. และบ้าน 2 ชั้น ขนาด 6x7 ตร.ม. ซึ่งค่าก่อสร้างอยู่ที่ประมาณหลังละ 180,000 – 500,000 บาท.
ทั้งนี้สำหรับโครงการบ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาประชาชนที่บุกรุกที่ราชพัสดุในพื้นที่ริมคลองตามนโยบายของรัฐบาลนั้นได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินเป็นสัญญายาวระยะเวลา 30 ปี ในอัตราค่าเช่าที่ผ่อนปรนเริ่มต้นเพียงตร.วาละ 1.50 บาทต่อเดือน
โดยในส่วนของพอช.ได้รับจัดรรงบประมาณจำนวน 4,061 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง ในระยะเวลา 3 ปี คือปี 59 – 61 รองรับการดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร โดยงบดังกล่าว จะให้ประชาชนกู้เพื่อก่อสร้างบ้านได้สูงสุด 500,000 บาท (ยื่นกู้2คน) ผ่อนส่งประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อไป
นอกจากนี้พอช.ยังได้สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าดำเนินการด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น งานก่อสร้างถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย เดินท่อประปา ไฟฟ้าเป็นต้น โดยมีเงื่อนไขคืองบดังกล่าวจะมอบให้ชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์มีการจัดทำบัญชีสหกรณ์ถูกต้อง
นอกจากนี้ชุมชนที่ได้เข้าโครงการในระหว่างที่มีการรื้อที่อยู่อาศัยเดิมและรอการสร้างบ้านใหม่แล้วเสร็จจะได้รับค่าเช่าบ้านพักชั่วคราวครับครัวละ 3,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่กทม.รับผิดชอบในส่วนของการก่อสร้างเขื่อนและการร่วมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในแนวคลองทั้ง 43 ชุมชนในพื้นที่8สำนักงานเขต.“
ที่มา : เดลีนิวส์ออนไลน์
วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2559 เวลา 12:22 น.
|
 |
|